น้ำปานะ ๘ อย่าง (อัฏฐปานะ)

ในพระวิน้ัยปิฎก มหาวิภังค์ โภชนาวรรค ว่าด้วยเรื่อง “การฉันโภชนะ (อาหาร) ในเวลาวิกาล” …พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทหรือพระวินัย สำหรับพระภิกษุ ว่า

“ก็ ภิกษุใดเคี้ยวของเคี้ยว หรือฉันของฉันในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์” (วิ.มหา. (ไทย) ๒/๒๔๘/๔๐๕)

คือ ห้ามฉันอาหารหลังเที่ยงไปแล้ว แต่ทรงอนุญาตให้สามารถฉัน (ดื่ม) “น้ำปานะ” ได้ ดังที่ปรากฎในพระวินัยปิฏก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ (พระไตรปิฎกซีดีรอม มจร. เล่มที่ ๕ ข้อ ๓๐๐ หน้า ๑๓๑) ความว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอัฏฐบาน คือ
๑. น้ำมะม่วง
๒. น้ำหว้า
๓. น้ำกล้วยมีเมล็ด
๔. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
๕. น้ำมะซาง
๖. น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น
๗. น้ำเหง้าบัว
๘. น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด”

คำว่า “ปานะ” แปลว่า ดื่ม หรือ น้ำดื่ม

ซึ่งถึงแม้ว่าจะทรงอนุญาตให้พระฉันได้ แต่ทรงแนะนำไม่ให้สะสม ดังที่ปรากฎในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิเทศ (พระไตรปิฎก ฉบับซีดีรอม มจร. เล่มที่ ๒๙ ข้อที่ ๑๕๙ หน้าที่ ๔๔๔) ความว่า

    "ภิกษุได้ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดีแล้ว ไม่ควรทำการสะสม เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่พึงสะดุ้ง"

อธิบายพระพุทธพจน์ข้างต้น  ว่า 
 
คำว่า ข้าว ในคำว่า... ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดี ได้แก่ 
ข้าวสุก ขนมกุมมาส (ขนมสด) ข้าวผง (สัตตุ) ปลา เนื้อ

คำว่า น้ำ ได้แก่ น้ำปานะ ๘ อย่าง คือ
    ๑. น้ำมะม่วง
    ๒. น้ำหว้า
    ๓. น้ำกล้วยมีเมล็ด
    ๔. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
    ๕. น้ำมะซาง
    ๖. น้ำลูกจันทน์หรือน้ำองุ่น
    ๗. น้ำเหง้าบัว
    ๘. น้ำมะปรางหรือน้ำลิ้นจี่

น้ำปานะอีก ๘ อย่าง คือ
    ๑. น้ำสะคร้อ
    ๒. น้ำผลเล็บเหยี่ยว
    ๓. น้ำพุทรา
    ๔. น้ำเปรียง
    ๕. น้ำผสมน้ำมัน
    ๖. น้ำข้าวยาคู
    ๗. น้ำนม
    ๘. น้ำรส

คำว่า ของขบเคี้ยว ได้แก่ ของขบเคี้ยวทำด้วยแป้ง ของขบเคี้ยวทำเป็นขนม
ของขบเคี้ยวทำด้วยหัว (ราก) ของขบเคี้ยวทำด้วยเปลือกไม้ ของขบเคี้ยวทำด้วยใบไม้
ของขบเคี้ยวทำด้วยดอกไม้ ของขบเคี้ยวทำด้วยผลไม้

คำว่า ผ้า ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด คือ
    ๑. โขมะ    (ผ้าเปลือกไม้)                    
    ๒. กัปปาสิกะ    (ผ้าฝ้าย)                                      
    ๓. โกเสยยะ    (ผ้าไหม)
    ๔. กัมพละ    (ผ้าขนสัตว์)
    ๕. สาณะ    (ผ้าป่าน)
    ๖. ภังคะ    (ผ้าที่ทำด้วยวัสดุผสมกัน)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *